ในปีหน้าปี 2025 เป็นปีที่การท่องเที่ยวกำลังปรับตัว ฟื้นฟู และเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านวิกฤตโรคระบาดที่บังคับให้ทุกคนแช่ฟรีซอยู่กับที่ไม่สามารถเดินทางออกไปท่องเที่ยวที่ไหนได้
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ เผยเทรนด์การท่องเที่ยวในปี 2568 ที่น่าจับตามอง โดยระบุว่าในปี 2568 การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) หรือการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์เป็นหนึ่งในเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แย่ลง ความตระหนักรู้ถึงปัญหา และการรักษาสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
อีกหนึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) เนื่องจากหลังการระบาดของโรคที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ กล่าวได้ว่าเป็นการท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจจากการทำงาน ภาวะเครียด รวมทั้งเป็นการท่องเที่ยวเพื่อสั่งสมประสบการณ์ และลดความเครียดด้วยการท่องเที่ยวตามสถานที่ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเที่ยวในพื้นที่ธรรมชาติ หรือธรรมชาติบำบัด การเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น การปั่นจักรยาน การเดินป่า และการทำอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการท่องเที่ยวคือการพื้นฟูร่างกายและจิตใจ ให้มีพลังและแรงขับเคลื่อนมากขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่สามารถรวมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร คือการท่องเที่ยวทีมุ่งเน้นการเรียนรู้วิถีเกษตรกรรม อาหารและวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว เกิดเป็นรายได้ให้กับชุมชนและตัวเกษตรกรเอง ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการท่องเที่ยวที่ไม่ก่อปัญหาและผลกระทบกับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม
คณะเกษตรศาสตร์ มช. มีโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมในโครงการเชื่อมโยงการผลิตฟาร์มสาธิตสู่การแปรรูป และการพัฒนาตลาดเกษตรสีเขียว ภายใต้โครงการพัฒนาฟาร์มมหาวิทยาลัยเพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามแนวทาง BCG Economic Model ปีที่ 2 ในพื้นที่ไร่แม่เหียะ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่แปลงสาธิตการทำการเกษตร และมีระบบการผลิตพืชแบบครบวงจร รวมทั้งเป็นพื้นที่ต้นแบบตามแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy Model)
การท่องเที่ยงเชิงเกษตรที่เกิดภายในพื้นที่ไร่แม่เหียะ หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ CMU Farm @Maehia มีการวางเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงทั้งทางด้านการเกษตร อาหาร วัฒนธรรม และเรื่องของพลังงานทดแทนเข้าด้วยกัน โดยผู้ที่เข้ามาท่องเที่ยวจะสามารถเรียนรู้องค์ความรู้ทางการเกษตร ลงมือปฏิบัติสั่งสมประสบการณ์จากการลงมือทำ เรียนรู้นวัตกรรมทางการเกษตร รวมทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้าน อาทิ ด้านอาหาร วิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นอกจากจะได้ทานอาหารที่อร่อยแล้วยังได้สัมผัสกับวิธีการเพาะปลูกพืชผัก วัตถุดิบในการทำอาหารที่ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีอีกด้วย
“วิทยากรที่มาให้ความรู้ในระหว่างการจัดกิจกรรมของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ CMU Farm @Maehia ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ คณาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์เกษตร และผู้ที่ปฏิบัติงานในสังกัดของคณะเกษตรศาสตร์ มช. การท่องเที่ยวเชิงเกษตรของเราจะเป็นการพาเที่ยวชมกิจกรรมภายในพื้นที่ไร่แม่เหียะ ที่เป็นพื้นที่ไร่ฝึกการทำงานของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มช. เปรียบเสมือนการเปิดบ้านให้ทุกคนได้เข้ามารู้จักคณะเกษตรศาสตร์ มช. มากขึ้น” นางสาวนาตยา ใจปัญญา นักจัดการงานทั่วไป ศูนย์วิจัย บูรณาการ สาธิตและฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มช. ผู้ดูแลโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร CMU Farm @Maehia กล่าว
นอกจากจะได้รับความรู้ ความสนุกแล้วยังได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่อ้อมล้อมไปด้วยขุนเขาลำเนาไพร นักท่องเที่ยวสามารถปล่อยกายปล่อยใจไปกับบรรยากาศที่แสนสบาย ในไร่แม่เหียะ ถือเป็นการฮีลใจในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนโดยรอบพื้นที่ และได้ช้อปสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าเกษตรกรในพื้นที่ภายในตลาดปลอดพิษอาหารปลอดภัยอีกด้วย เป็นพื้นที่ที่รวมทุกสิ่งไว้ในที่ด้วย ทั้งที่พัก กิจกรรม อาหาร วัฒนธรรม และสินค้าพื้นบ้าน
นักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจจากการทำงานหนักมาทั้งปีให้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ไร่แม่เหียะเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสกับบรรยากาศและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากจะได้รับความผ่อนคลายแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการเกษตรแบบครบวงจร สัมผัส และสั่งสมประสบการณ์จากการท่องเที่ยวอีกด้วย